รัฐบาลยกตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจาก IMF มาอ้างว่า ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566- แต่ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลไม่ได้พูดออกมา คือ ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีปี 2566 ของไทยก็ยังคงต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤติในช่วงโควิด-19 ช้ากว่าเพื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อตัวเลขคาดการณ์ปี 2566 ขยายตัวมากกว่าปี 2565 จึงพูดได้ว่า “ขยายตัวเพิ่มขึ้น” แต่ก็ไม่ได้น่ายินดีอะไรนัก
“นายกรัฐมนตรียินดี IMF มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตสวนทางเศรษฐกิจโลก ชี้ความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลส่งผลสำคัญต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน นักท่องเที่ยวและผู้ประเมินประเทศไทย”
คือพาดหัวข่าวที่โฆษกรัฐบาลแถลงออกมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 อ้างอิงตัวเลขคาดการณ์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)
และต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัว 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ก็มีอีกข่าวหนึ่งที่โฆษกรัฐบาลแถลงออกมาว่า…
“นายกรัฐมนตรีปลื้มจีดีพีไทยไตรมาส 3/65 โตอีกร้อยละ 4.5 เร่งขันนอตเบิกจ่ายงบลงทุน บริหารส่งออกรับความท้าทายเศรษฐกิจโลก พร้อมรักษาความต่อเนื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเอสเอ็มอี”
ทั้งสองข่าวนี้ชวนให้สันนิษฐานว่า รัฐบาลจงใจหลอกประชาชนให้เชื่อในเรื่องเล่าที่หยิบยกตัวเลขมาพูดเพียงแง่มุมเดียว เพื่อให้ดูดี ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงทั้งหมด
ดังนั้น ไทยรัฐพลัสขอชวนไปดูว่า เราควรมองเห็นอะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลไม่ได้บอกออกมา
ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้
สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัว 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่ขยายตัว 2.3% และ 2.5% ตามลำดับ
เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยาย 1.2% จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 รวม 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.1%
ส่วนที่ขยายตัวคือ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัว 9.0% เร่งขึ้นต่อเนื่อง และการใช้จ่ายการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการ ขยายตัวเร่งขึ้น
ส่วนที่ชะลอตัวคือ การส่งออกสินค้า
และส่วนที่ลดลงคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
ส่วนภาพรวมทั้งปี 2565 สภาพัฒน์ คาดว่า จีดีพีจะขยายตัว 3.2% เป็นอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้นจากปี 2564 ที่ขยายตัว 1.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 3.6% ของจีดีพี
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 สภาพัฒน์ คาดว่า จีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร
และคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 1.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.1% ของจีดีพี
คาดการณ์ของสภาพัฒน์ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการคาดการณ์ขององค์กรอื่นๆ ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นกว่าปีนี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัว 3.7%
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ ณ เดือนกันยายนว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะโต 3.8%
และ Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565
เมื่อรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยโตดีกว่าเศรษฐกิจโลก
ส่วนหนึ่งในเนื้อหาข่าวที่โฆษกรัฐบาลแถลงออกมาคือ
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงรายงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2566 จากร้อยละ 2.8 ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ IMF มองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น”
“สำหรับข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจโดย IMF ดังกล่าว ได้มีการเปิดเผยระหว่างที่ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเวทีการประชุมผู้นำเอเปก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง IMF เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปกส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้จีดีพีทั่วโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565”
“อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ยังคงมีความสดใส โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งรายงานของ IMF แสดงให้เห็นว่า ไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีก่อนหน้า ไม่นับรวมฮ่องกงและมาเก๊า”
แต่ความจริงที่รัฐบาลไม่ได้บอกคือ…
เนื้อหาที่โฆษกรัฐบาลยกมากล่าวแถลงนี้ ดูเหมือนว่าเป็นการเจตนาเลือกเฉพาะมุมที่ดูดีจากข้อมูลมากล่าวอวดอ้าง แต่ความจริงที่รัฐบาลไม่ได้พูดออกมา คือ ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีปี 2566 ของไทยยังคงต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤติในช่วงโควิด-19 ช้ากว่าเพื่อน โดยในปี 2564 จีดีพีของไทยขยายตัวขึ้นเพียง 1.5% ส่วนในปี 2565 นี้ IMF คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 2.8%
ดังนั้น เมื่อตัวเลขคาดการณ์ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.7% ซึ่งมากกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2565 จึงพูดได้ว่า “ขยายตัวเพิ่มขึ้น” แต่ก็ไม่ได้น่ายินดีอะไรนัก
ถ้าไปดูเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราจะเห็นภาพความจริงชัดขึ้นว่า เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านฟื้นตัวดีกว่าเราติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี จึงไม่แปลกถ้าในปี 2566 การเติบโตหรือขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง คือโตน้อยกว่าปีก่อนหน้า
แต่ถึงอย่างนั้น ความจริงที่ต้องย้ำก็คือ ตัวเลขของหลายประเทศยังสูงกว่าไทยอยู่ดี ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (และในตารางด้านล่าง)
อินโดนีเซีย ในปี 2564 จีดีพีขยายตัว 3.7% ปี 2565 นี้ คาดว่าจะขยายตัว 5.3% ส่วนในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 5.0%
เวียดนาม ในปี 2564 จีดีพีขยายตัว 2.6% ปี 2565 นี้คาดว่าจะขยายตัว 7.0% ส่วนในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 6.2%
ฟิลิปปินส์ ในปี 2564 จีดีพีขยายตัว 5.7% ปี 2565 นี้คาดว่าจะขยายตัว 6.5% และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 5.0%
มาเลเซีย ในปี 2564 จีดีพีขยายตัว 3.1% ปี 2565 นี้คาดว่าจะขยายตัว 5.4% และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 4.4%
ส่วนจีน ที่รัฐบาลไทยยกมาอ้างด้วยว่า “ไทยและจีนเป็น 1 ใน 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น” นั้น ก็ต่างจากไทย เพราะจีดีพีของจีนในปี 2564 ขยายตัว 8.1% และในปี 2565 นี้คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ซึ่งมากกว่าไทย ส่วนในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ซึ่งก็มากกว่าไทยอีก
จะเห็นว่าตัวเลขของเหล่าประเทศร่วมอาเซียน-5 ล้วนแต่สูงกว่าไทย ทั้งในปีนี้ ปีก่อนหน้า และปีที่กำลังจะมาถึง แต่รัฐบาลเรากลับบอก (หลอก) ประชาชนของตัวเองว่า เศรษฐกิจเราขยายตัวดีกว่าประเทศอื่น เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่จีดีพีขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ว่าเศรษฐกิจไทยโตดีสวนทางเศรษฐกิจโลกก็ค่อนข้างจะเกินจริงไป ถึงแม้ว่าตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลง ซึ่งไม่ผิดถ้าจะมองเพียงทิศทางกับจังหวะว่าเร่งตัวขึ้นหรือชะลอลง แต่ความจริงก็อีกเช่นกันว่า ก่อนหน้านี้จีดีพีโลกขยายตัวในอัตราที่เร็วกว่าจีดีพีไทย โดยจีดีพีโลกในปี 2564 ขยายตัว 6.0% ส่วนคาดการณ์ปี 2565 จีดีพีโลกจะขยายตัว 3.2% และปี 2566 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7%
ขณะที่เศรษฐกิจไทย ในปี 2564 จีดีพีของไทยขยายตัวขึ้น 1.5% ส่วนในปี 2565 นี้ คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 2.8% และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.7%
หากเชื่อถือในตัวเลขว่าตัวเลขและสถิติต่างๆ
ไม่หลอกลวง เราก็น่าจะสรุปได้ว่า สถานการณ์ปีนี้และปีหน้าที่กำลังจะมาถึง
ยังไม่ได้น่ายินดีอย่างที่นายกรัฐมนตรียินดี
และยังมีคำเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงอีกมากมายที่รัฐบาลควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือ
</{Fullwidth}