"บิ๊กตู่" เผย กำลังพิจารณาตัดสินใจอนาคตทางการเมือง ย้อนถามสื่อฯ จะรีบไปไหน หลังสื่อถาม ส.ส.รอสัญญาณจากนายกฯ เพื่อจะไปร่วมงานทางการเมือง

“ประยุทธ์” แย้มปรับ ครม. ก่อนปีใหม่ เลี่ยงตอบปม พปชร.-รทสช. พรรคเดียวกัน
บิ๊กตู่” เลี่ยงตอบ หลังถูกถามปม “บิ๊กป้อม” บอก พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติพรรคเดียวกัน เผย ปรับ ครม. ก่อนปีใหม่ กำลังพิจารณา ว่างตรงไหนปรับตรงนั้น
วันที่ 28 พ.ย. 2565 เมื่อเวลา 15.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามสื่อมวลชน ในช่วงพักเบรกกิจกรรมการนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นพรรคเดียวกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ เลี่ยงตอบ พร้อมกล่าวว่า ไปอ่านในจอห้องประชุม ไปติดตามหน่อย เมื่อถามอีกว่าเป็นพรรคเดียวกันแต่ต่างคนต่างอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม

ปรับ ครม.
ต่อมาเวลา 15.50 น. ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทวงถามการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้มีการยื่นรายชื่อไปนานแล้ว ว่า “ก็เดี๋ยวปรับ เดี๋ยวปรับก็รู้เอง” เมื่อถามย้ำว่าจะปรับหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “ก็ไม่มีผลอะไรกับพวกเราไม่ใช่หรือ มีผลแต่กับ ครม. ผมก็ปรับของผม เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปแสดงว่าจะปรับ ครม. ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า “ก็เขาเสนอมา ก็พิจารณาไงล่ะจ๊ะ” ส่วนคำถามว่าจะปรับเฉพาะที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมา หรือจะมีปรับพรรคอื่นด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เดี๋ยวก็กำลังพิจารณาอยู่” ขณะที่เมื่อถามย้ำว่าจะเกิดขึ้นก่อนปีใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็คงเป็นอย่างนั้น” สำหรับการปรับ ครม. ครั้งนี้จะเป็นการปรับใหญ่หรือปรับเล็ก นายกรัฐมนตรีให้คำตอบว่า “ว่างตรงไหนก็ปรับตรงนั้น”

“ช่อ” แกนนำคณะก้าวหน้า วิเคราะห์ไทย กับ APEC 2022 ชี้ เป็นโอกาสทอง ไทยสร้างเครดิตในเวทีโลก หากผู้นำมีวิสัยทัศน์ มองสูญเสียโอกาสใช้ APEC เป็นเครื่องกอบกู้ภาพลักษณ์ประเทศ ชี้ แม้แทงข้างรัสเซียสุดตัว แต่สุดท้ายไร้เงา "ปูติน" ร่วม
วันที่ 15 พ.ย. 65 น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนา “เวที APEC และการต่างประเทศไทย : ไทยจะไปทางไหนท่ามกลางความขัดแย้ง?” ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารกิจกรรมนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ถึงบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก ต่อการได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

น.ส.พรรณิการ์
ระบุว่า เอเปกไม่ใช่แค่การประชุมเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
เพราะทุกเวทีการประชุมสูงสุดล้วนแต่เป็นสถานที่แสดงอำนาจและบทบาทของประเทศต่างๆ
ในการเมืองระหว่างประเทศทั้งนั้น
ซึ่งไทยก็จะต้องร่วมเล่นการเมืองนี้อย่างฉลาด
และควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดในการกอบกู้ทศวรรษแห่งความสูญเปล่าในการต่างประเทศของไทย
ที่ผ่านมามีบทบาทเพียงแค่การไล่อธิบายกับนานาชาติว่าเหตุใดจึงต้องรัฐประหาร
การตอบคำถามว่าเมื่อไหร่จะมีเลือกตั้ง
และการแก้ตัวให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
แต่ประเทศไทยกลับใช้โอกาสนี้เล่นการเมืองอย่างไม่ฉลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการแสดงออกในกรณีรัสเซีย-ยูเครน
ในทางที่เข้าข้างรัสเซียมากกว่าประเทศมหาอำนาจตะวันตก
หรือการแสดงออกอย่างสมดุลมาโดยตลอด
ถึงขั้นมีการส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเยือนรัสเซียเมื่อเดินกันยายน
ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่าทางสหรัฐอเมริกา ไบเดนไม่ยอมมาร่วมด้วยตัวเอง
ขณะที่ทางฝั่งรัสเซีย ปูตินก็ไม่ได้มาด้วยตัวเองเช่นกัน
ทำให้เห็นว่านโยบายเลือกข้างเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจ
ประชุมเอเปก 2022

น.ส.พรรณิการ์
ยังระบุต่อไป
ว่าการมาหรือไม่มาของผู้นำระดับสูงสุดเป็นตัวบ่งชี้ถึงความน่าเชื่อถือของผู้เชิญ
ว่าสามารถสร้างภาพลักษณ์ในเวทีระดับโลก มีบทบาทในการเจรจา
สร้างเวทีความร่วมมือได้หรือไม่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่หายไปจากประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าผู้นำสูงสุดหลายคนล้วนเข้าร่วมการประชุม G20 ที่บาหลี
อินโดนีเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่กลับตอบรับมาร่วมประชุมเอเปกกันน้อยมาก
ทำให้การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทยล้มเหลวในการเป็นเครื่องมือกอบกู้ภาพลักษณ์
กลายเป็นเพียงการประชุมตามวาระปกติ และกรอบความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว เช่น
เรื่องการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก เท่านั้น
น.ส.พรรณิการ์
ยังกล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาการเมืองจากภายในเท่านั้น
ที่จะช่วยคลี่คลายภาพลักษณ์ในการต่างประเทศของไทยได้
เพราะความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในวันนี้อยู่ในจุดที่ตกต่ำอย่างมาก
แม้จะพยายามขายภาพลักษณ์ที่ดี แต่ความเป็นจริงคือประเทศไทยทำตรงข้ามในทุกๆ
เรื่องที่เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงในเรื่องที่เวทีโลกจับตามองอยู่
ทั้งในเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน
และการเลือกข้างอย่างไม่สมดุลในเวทีระหว่างประเทศ

“ในเวทีรอบนี้มีการพูดเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืน
ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่ดี
แต่รัฐบาลซึ่งอ้างคำนี้ก็คือรัฐบาลเดียวกันกับที่คว่ำกฎหมายสุราก้าวหน้า
ส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจต่อไป อ้างว่า
จะสนับสนุนเกษตรกรแต่ยังมีเกษตรกรถูกรัฐจับกุม เพราะรุกป่าตลอดเวลา
ทั้งที่รัฐไปประกาศที่อุทยานทับที่ชาวบ้าน
อ้างว่ายึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่ก็ยังจับคนเข้าคุกในคดี 112
ตลอดเวลา และที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ
การกล้าเอาปลากุเลาตากใบขึ้นโต๊ะกาลารืดินเนอร์
ขณะที่ชาวตากใบเกือบร้อยคนที่เสียชีวิตจากการกระทำเกินกว่าเหตุของทหารในปี
2547 ยังไม่เคยได้รับความยุติธรรม
และคนจังหวัดชายแดนใต้ยังคงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาจนถึงวันนี้”
พรรณิการ์ กล่าว
น.ส.พรรณิการ์ ระบุด้วยว่า
การได้เป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยปีนี้ควรเป็นปีที่พิเศษมาก
หลังจากที่เวทีเอเปกไม่ได้มีการประชุมแบบเจอตัวกันมานานหลายปี
บวกกับมีทั้งสถานการณ์โลก เช่น ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ วิกฤติพลังงาน
การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ฯลฯ
ทำให้มีโอกาสสูงที่การประชุมครั้งนี้จะสามารถถูกทำให้เป็นการประชุมที่มีความหมายมากกว่าการประชุมตามวาระทั่วไป
แต่น่าเสียดายที่เมื่อผู้นำของประเทศขาดความน่าเชื่อถือ
จึงทำให้ไม่สามารถแสดงบทบาทนำในลักษณะนี้ได้.

ถ้าติดตามตัวเลขนักท่องเที่ยวย้อนหลัง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการยกเลิกมาตรการ “โควิด-19” จะเห็นว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเรามากขึ้น สังเกตง่ายๆ หากใครได้เล่น TikTok และดูคลิปต่างชาติ มารีวิวเมืองไทย ก็จะเห็นกันรัวๆ ในขณะที่คนไทยเอง เมื่อเปิดประเทศ ก็เที่ยวต่างประเทศกันสนุกสนาน เกาหลี ญี่ปุ่น ทำให้ “ตั๋วเครื่องบิน” แพงหูฉี่กันเลย... เรียกว่า คนไทยอยากออก คน (เมือง) นอก อยากเข้ามาเที่ยว ก็ว่าไม่ได้....มันอัดอั้นเนอะ!
สำหรับ ตัวเลข การท่องเที่ยวประเทศไทย ในรอบนี้ จากสถิติ 9 เดือน มกราคม-กันยายน 2565 อยู่ที่ 5,688,035 คน กระจายเที่ยวหลักๆ อยู่ที่ กรุงเทพฯ ชลบุรี กาญจนบุรี ในขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามา กลับกลายเป็นว่าเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงมากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม โดยมีตลาดอินเดีย ที่เริ่มเข้ามาเยอะ
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ รวมถึง ททท. พยายามส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายไว้ว่า จบปีนี้จะได้ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะเท่าที่ดูตัวเลขถึงเดือนพฤศจิกายน (อย่างไม่เป็นทางการ) ได้มากกว่า 7 ล้านคนแล้ว และอีก 2 เดือนสุดท้ายถือเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวด้วย น่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงโดยไม่ยาก

โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียง ที่เดินทางมาเที่ยว ทั้งลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เรียกว่า มาเที่ยวอย่างปกติไปแล้ว ในขณะที่ประเทศในยุโรป หรือที่เคยมาหลายประเทศ ยังไม่ตามเป้า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักพัก
“ส่วนตัวคาดว่า กว่าประเทศเหล่านี้จะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แบบปกติ อาจจะปี 2567 หรืออีก 2 ปีเลยทีเดียว”
นโยบาย “กัญชา” เสรี กระทบ “ท่องเที่ยว” ต้องเร่งทำความเข้าใจ
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า บางทีการไปทำตลาด ก็อยากให้ไปสื่อสารกับหลายๆ ประเทศ เข้าใจประเทศไทย ว่ามีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวจริงๆ โดยไม่มีนโยบายการกักตัวแล้ว สามารถเข้ามาเที่ยวได้อย่างปกติ
นายศิษฎิวัชร เน้นว่า บางประเทศยังรู้สึกกลัวเรื่องโควิดอยู่ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เขาคิดว่าประเทศไทย ก็เหมือนประเทศเขา ที่ยังโควิดระบาดอยู่ เขาจึงไม่ออกมา ถึงแม้ว่าเขาและเราเริ่มเปิดประเทศแล้ว เขาก็ยังไม่กล้าเข้ามา
จากการหาข้อมูลเชิงลึก เราพบว่า...หลายประเทศ มีความกังวลในการเดินทางมาเมืองไทย เช่น ประเทศญี่ปุ่น กังวลเรื่องโควิด เขาไม่อยากให้คนในประเทศเขากลับประเทศแล้วติดโควิด
ประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เขากังวลเรื่อง “กัญชาเสรี” ในประเทศไทย โดยสื่อเขาตีข่าวอย่างมาก เพราะบางประเทศถือว่า “กัญชา” ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฉะนั้น สื่อของเกาหลีฯ ก็ยังพูดเรื่องนี้อยู่ทุกวัน

“เมื่อเขามาประเทศเรา แล้วมากิน หรือใช้กัญชา แต่กลับประเทศเขา อย่างที่ญี่ปุ่น แล้วโดนสุ่มตรวจฉี่และพบว่ามีกัญชา เขาจะโดนโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ที่ผ่านมา ก็มีการจับกุมไปแล้วหลายคน กรณีที่ไม่ตั้งใจก็โดน เพราะเป็นการสุ่มตรวจ...”
ประเด็นกัญชา ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่หลายประเทศเป็นห่วงและแสดงความกังวล...
“สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือ การต้องสื่อสารให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมา มีสมาชิกหลายคนเข้ามาร้องเรียน ฉะนั้น จึงต้องแจ้งเตือนและระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะอาหารการกิน ย่านวอล์กกิงสตรีต หรือแม้แต่ถนนที่มีนักท่องเที่ยวมาอาศัยจำนวนมาก เพราะเมื่อนำ “กัญชา” มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารด้วย บางคนไม่รู้เผลอกินเข้าไปแล้วบินกลับประเทศ แล้วต้องเจอความเดือดร้อน...”

เพื่อนบ้านแห่เที่ยวไทย รัฐบาลควรส่งเสริม?
เมื่อถามว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านมาก มาไทยเติบโตสูงขึ้น รัฐบาลควรทำอย่างไรกับตรงนี้ นายศิษฎิวัชร กล่าวยืนยันว่า ความจริงเขาไม่ได้เข้ามามากขึ้น แต่เข้ามาเป็นปกติ หากย้อนสถิติไปเมื่อปี 2019 ชาวมาเลเซีย เข้าไทย 1.9 ล้านคน และจากต้นปีถึงตอนนี้ ก็เกือบล้านคน สิงคโปร์ ลาว ก็เข้ามาสูงระดับหนึ่ง
“ประเทศเหล่านี้ ถือเป็นชาติที่คล่องตัวในการเดินทางเที่ยวไทย ฉะนั้น ก็ควรส่งเสริม ประเทศที่มาน้อยลงมาก ก็ต้องไปทำตลาด เช่น ประเทศญี่ปุ่น เขาก็มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์ เพื่อให้คนญี่ปุ่นเข้าใจประเทศไทย โดยจะบอกให้เขาเข้าใจว่า โรคระบาด หรือโควิด ในประเทศไทย มีน้อยมากแล้ว...”
สิ่งที่อยากจะฝาก คือ เรื่องการบริหารจัดการเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสนามบินต่างๆ ต้องมีการจัดระเบียบให้ดี เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวรอนาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอย่างราบรื่นและมีความสุข
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

“บิ๊กป้อม” เซ็น ถอนกฎกระทรวงมหาดไทย ขายที่ดินให้ต่างชาติ ออกจากมติ ครม.แล้ว แต่ยืนยัน กฎหมายที่ว่าไม่ใช่กฎหมายขายชาติ เหตุ ยังคงมีกฎกระทรวงเดิมเมื่อปี 45 บังคับใช้อยู่
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ลงนามเอกสารขอถอน เรื่องร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ออกจากมติ ครม. ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องไปยัง พล.อ.ประวิตร เพื่อให้ถอนเรื่องดังกล่าวไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน โดยเช้าวันที่ 7 พ.ย. พล.อ.ประวิตร ลงนาม และทางกรมที่ดิน ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เรียบร้อยแล้ว
เมื่อถามว่า เหตุใดต้องถอนเรื่องดังกล่าว นายชยาวุธ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย อีกทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย เพิ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 ซึ่งมีเนื้อหาว่า ส่วนราชการที่มีการออกกฎอนุมัติอนุญาตอะไรที่เกี่ยวกับประชาชนต้องรับฟังความคิดเห็นก่อน และเรื่องที่ดินที่เราเสนอไปนั้น เสนอก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผล เมื่อกฎหมายมีผลออกมาในช่วงคาบลูกคาบดอกเช่นนี้ กระทรวงมหาดไทย จึงขอถอนเรื่องออกมา หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ถอนเรื่องก็มาตั้งต้นกันใหม่ว่า เรื่องนี้จะเอาอย่างไร เดินหน้าต่อหรือไม่ อย่างไร แต่ยืนยันว่า กฎหมายที่ว่าไม่ใช่กฎหมายขายชาติ และถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะดึงเรื่องนี้ออกมาแล้วแต่ยังคงมีกฎกระทรวงเดิมเมื่อปี 45 บังคับใช้อยู่

การประชุมเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) ครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจและประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะได้อะไรจากการประชุมในครั้งนี้ รวมไปจนกระทั่งถึง บทบาทของรัฐบาลไทยภายใต้โลกที่ร้อนระอุจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นมากขึ้นทุกที ควรวางตัวอย่างไร ทั้งหมดนี้ มีคำตอบจาก "รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา การประชุมเอเปกครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อาจไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจเท่าใดนักในสายตาของขาวโลก สาเหตุเป็นเพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง APEC เมื่อปี 1989 จนถึงทุกวันนี้ ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งยังไปไม่ถึงไหน” รศ.ดร.สมชาย เริ่มต้นการสนทนา กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อย่างไรก็ดีในอีกด้านหนึ่ง หากมองในกรอบของสมาชิกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ยังคงมีความสำคัญโดยเฉพาะสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่คือ ข้อที่ 1 เป็นอีกหนึ่งตัวเสริมสำคัญเพื่อเพิ่มเติมส่วนที่ขาดในการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และข้อที่ 2 มีการเปิดประเด็นไปสู่การลดอุปสรรคทางด้านการค้า การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและทางเทคนิค ซึ่งถือเป็นการเพิ่มเติมในประเด็นความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเหนียวแน่นมากขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก

สาระสำคัญที่น่าจับตาในการประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ :
ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมีความพยายามผลักดัน 3 ประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ คือ...
1. เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) หมายถึงการเปิดกว้างทางการค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรี
2. สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect) หมายถึง หลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะมีการฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยผ่านการจัดตั้งกลไลการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อ
3. สร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) หมายถึง การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไรผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
โดยในความเห็นส่วนตัวคิดว่าในข้อที่ 3 นี้ เป็นประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจมาก เพราะจะมีการพูดถึงคือ 1.การสร้างความสมดุลในเชิงของเพศ ซึ่งจะมีการส่งเสริมสิทธิสตรีผ่านการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการลา เซเรนา เพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth)
2. การสร้างสมดุลเรื่องพลังงานหมุนเวียน (Renevable Energy) ซึ่งจะมีการนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาปรับใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตถรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
3.การสร้างสมดุลด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งจะมีส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล
4.การสร้างสมดุลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งในประเด็นนี้ “บราซิล” คงกลายเป็นจุดสนใจไปโดยปริยายเนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าอเมซอนซึ่งถือเป็นปอดของชาวโลก หายไปแล้วถึง 1 ใน 4

สิ่งที่ประเทศไทยจะได้จากการประชุมเอเปก :
1. ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทย
ในความเป็นจริงประเทศไทยอยู่ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมปี 2564 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีหลายสิบครั้ง ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สำคัญๆอีก 3 ครั้ง และการจัดประชุมย่อยๆอีกหลายร้อยครั้งซึ่งในแต่ละครั้งมีทั้งผู้เข้าร่วมการประชุมและสื่อต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทยหลายพันหลายคน ด้วยเหตุนี้จึงเท่ากับเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ชาวโลกได้รู้จัก และยังทำให้เกิดการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆภายในประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ และ ภูเก็ต อีกด้วย
2. การประชุมนอกกรอบ
ต้องไม่ลืมว่าเมื่อปี 2002 การประชุมนอกกรอบเอเปกที่ประเทศเม็กซิโก ทำให้เกิด ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP มาแล้ว
ฉะนั้น รัฐบาลไทยจึงน่าจะใช้โอกาสในการประชุมนอกกรอบ พูดคุยในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆเพื่อหารือเรื่องกรอบการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และ ภาคการท่องเที่ยว

นัยยการเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมของผู้นำประเทศ :
“เรื่องนี้หากถามว่ามีไหม ก็คงต้องตอบตรงๆว่า มีครับ”
เหตุใด "ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง" ของจีน จึงเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย ยกเว้นการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ที่ประเทศอุซเบกิสถาน เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้นำจีนต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนยินดีที่จะเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศที่เป็นมิตรรวมถึงต้องการแสดงบทบาทของจีนบนเวทีโลก อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับประเทศไทยด้วย
ส่วนหากถามว่าเหตุใด "ประธานาธิบดีโจ ไบเดน" จึงไม่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเอเปกที่ประเทศไทย ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า สาเหตุสำคัญของประเด็นนี้ น่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่พอใจกับการที่ไทย เลือกที่จะงดออกเสียง มติประณามรัสเซียเรื่องการผนวกดินแดนที่ยึดครองจากยูเครน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากนี้ อาจจะเป็นเพราะก่อนหน้าการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเพียงไม่กี่วัน ผู้นำสหรัฐฯจะได้มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่อยากพูดคุยด้วยมากที่สุดในเวลานี้ อย่าง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย (13-16 พ.ย.) อยู่แล้ว

SPONSORED
เอเปก กับ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ :
“ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะการจะดึงให้สหรัฐฯและรัสเซียมาพูดคุยกันเป็นเรี่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในเวลานี้”
ปัญหาสงครามยูเครน หรือ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าที่จะใช้เวทีเอเปกในการแก้ไขปัญหา เพราะในเวทีระดับองค์การสหประชาชาติเองก็ยังหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ยาก
นอกจากนี้ หากมองให้ลึกลงไป เพียงการเจรจาเพื่อทำเขตการค้าเสรีในเอเปก ซึ่งดำเนินความพยายามมาตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จคืบหน้าไปถึงไหนเลย เพราะการทำให้ทั้ง 21 ประเทศเห็นพ้องต้องกันนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้โดยง่าย

ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับ บทบาทเจ้าภาพเอเปก :
“เรื่องนี้มี 2 ประเด็น คือ 1.เราวางตัวอย่างไร และ 2.เขามองว่าเราวางตัวอย่างไร ซึ่งหากจะให้มองเห็นภาพนี้ได้อย่างชัดเจน คือ ผมอาจพยายามวางตัวโดยการพูดคุยกับคุณดีมากๆเลย แต่บางทีผมอาจเผลอพูดอะไรไปโดยไม่ทันได้คิด อาจทำให้คุณเริ่มโกรธได้”
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ข้อเท็จจริง 2.การยอมรับ ซึ่งหากถามว่ารัฐบาลไทยในเวลากำลังทำอะไร ในแง่ข้อเท็จจริง คือ กำลังพยายามวางตัวในลักษณะที่เป็นกลาง ซึ่งคำว่าเป็นกลางในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการทิ้งระยะห่าง เพราะหากทิ้งระยะห่างนี้เราตายได้เลย เพราะทั้งสองฝ่ายจะไม่เอาเราแน่ๆ
เพราะฉะนั้น เราจึงวางตัวในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับทางด้านฝ่ายจีนรัสเซีย และทางด้านฝ่ายสหรัฐอเมริกา คือ “พูดง่ายๆว่ากำลังทำดีกับทุกฝ่าย” แต่แน่นอนว่า “การเล่นบททำดีกับทุกฝ่าย” อีกฝ่ายหนึ่งมองอย่างไร “เรื่องนี้คือคำถามที่สำคัญ” เพราะมันย่อมมีความเป็นไปได้ว่าอีกฝ่ายอาจตีความไปในทางตรงกันข้ามได้

และสำหรับในประเด็นนี้น่าจะตรงกับที่ "นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง" ของสิงค์โปร์ ได้เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร Foreign Affairs เมื่อ 2 ปีก่อน โดยระบุว่า อาเซียนและสิงค์โปร์กำลังเข้าสู่ภาวะที่ยากลำบากจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน เพราะภายใต้ความขัดแย้งนี้ หากเกิดวางตัวผิดพลาดไปใกล้ชิดอีกฝ่ายมากเกินไป จะต้องถูกเล่นงานจากอีกฝ่ายแน่นอน ซึ่งสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ ก็ยังอยู่ภายใต้บริบทนี้เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ไม่เพียงแต่จะวางตัวอย่างไร แต่มันต้องวางตัวแล้วทั้งสองฝ่ายเห็นว่าโอเคแล้วไหมด้วย และนี่คือ “โจทย์ที่ยากพอสมควรสำหรับรัฐบาลไทย” เพราะสถานการณ์ความขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน กำลังบีบรัดให้ รัฐบาลไทยวางตัวยากขึ้นทุกทีๆ เพราะจีนเองก็ต้องการที่จะขยายอิทธิพลและมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับไทยสูงมาก ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯก็คืออภิมหาอำนาจ “ฉะนั้น ต่อจากนี้เป็นต้นไปในเรื่องของความขัดแย้ง การวางตัวของไทยจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและไม่ใช่ง่ายๆเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พล.อ.ประยุทธ์” ยังอุบท่าทีการเมือง บอกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น หลังถูกสื่อบี้ถามเรื่องสมัคร
สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ- นายกฯ คนละครึ่งกับ “บิ๊กป้อม”
เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 26 ต.ค. 2565
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถึงประเด็นทางการเมือง หลังผู้สื่อข่าวถามว่าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และคิดอย่างไรกับแนวคิดนายกฯ คนละครึ่งกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “การเมืองผมไม่พูด” พร้อมกับเดินขึ้นไปนั่งในรถจากนั้นผู้สื่อข่าวพยายามถามอีกว่าจะมีความชัดเจนได้เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า “เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น” พร้อมกับโบกมือส่งสัญญาณให้คนขับรถเคลื่อนรถออก เมื่อถามย้ำอีกว่า คิดว่ามีความจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวจึงถามอีกว่าแสดงว่าจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ หันมาแล้วพูดว่า “ไม่รู้” ก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนไปยังตึกไทยคู่ฟ้า
{Fullwidth}

นายกฯ ถก คกก.ระดับชาติ ทบทวนทำความเข้าใจเตรียมความพร้อมประชุมเอเปก บอกเป็นเรื่องที่น่ายินดีหลายผู้นำตอบรับมาร่วมประชุมแล้ว จับตา นายกฯ หารือเป็นการภายใน พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เป็นเวลา 30 นาที
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 ต.ค. 65 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 3/2565 โดยมีวาระ อาทิ เรื่องของการตอบรับเข้าร่วมของผู้นำเขตเศรษฐกิจ เขตพิเศษ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ กำหนดการการประชุมผู้นำเอเปกและประเด็นหารือของผู้นำ เรื่องของพิธีการต่างๆ และการประชาสัมพันธ์ รวมถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัยและการจราจร โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผบ.ตร. ผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

SPONSOREDทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจ และทบทวนรายละเอียดการจัดงาน เพื่อให้ติดตามสถานการณ์ให้ทัน เนื่องจากมีหลายประเทศและหลายกลุ่มเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม รวมถึงแขกที่มาเยือนอย่างเป็นทางการด้วย ขณะที่ในช่วงเช้าได้มีการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในความคืบหน้าเกี่ยวกับการประสานงานและการหารือประเด็นต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลายผู้นำตอบรับจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ดังนั้นจะต้องหารือเรื่องพิธีการต้อนรับ การรักษาความปลอดภัย และลำดับขั้นตอนการประชุม รวมถึงการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้จะให้ความเห็นชอบการเตรียมจัดการประชุมไปแล้วระดับหนึ่ง แต่วันนี้จะต้องทบทวนและทำความเข้าใจกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามจะมีช่วงเวลาที่ตนเองต้องเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ประเทศกัมพูชา ก่อนการประชุมเอเปก เป็นเวลา 4 วันด้วย

ทั้งนี้ก่อนการประชุม นายกฯ ได้หารือเป็นการภายในกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นเวลาประมาณ 30 นาที.
รองหัวหน้าพรรค พปชร. ชี้แจง รับเงินบริจาค 3 ล้านบาท ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งรายงานแจ้ง กกต. แล้ว มั่นใจไม่โดนยุบพรรค วอนหยุดให้ข่าว-บิดเบือนสร้างความเสียหาย
วันที่ 29 ต.ค. 2565 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ นายทุนจีนที่ได้รับสัญชาติไทย มีชื่อบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 3 ล้านบาท เมื่อปี 2564 ว่า เบื้องต้นพรรค พปชร.ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว โดยดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองทุกประการ ไม่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนการรับบริจาค กฎหมายพรรคการเมืองเขียนไว้อย่างเคร่งครัด เมื่อได้รับบริจาคมาแล้ว ต้องจัดทำรายงานพร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้บริจาค และรายงานให้ กกต. รับทราบ ซึ่งกรณีนี้ได้รับบริจาคมาเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐให้ความระวังเรื่องการกระทำต่างๆ โดยต้องคำนึงให้เป็นไปตามกฎหมายอยู่ กรณีที่เกิดขึ้นขอยืนยันกับสังคมว่าพลังประชารัฐทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่มีความเป็นห่วงการให้สัมภาษณ์ หรือการแสดงความเห็นของบางคนว่าอย่าไปให้สัมภาษณ์ใส่ความหรือวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้พรรค พปชร. เกิดความเสียหายหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงในกรณีนี้พรรค พปชร. ไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า มั่นใจว่าไม่มีเหตุที่จะนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่ผิดกฎหมายแน่นอน เมื่อไม่ผิดกฎหมายคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการยุบพรรค เพราะไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีการกระทำใดที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ในฐานะฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบครบถ้วนแล้ว
เมื่อถามว่า หาก กกต.จะขอข้อมูล หรือเรียกไปสอบสวนพร้อมชี้แจงหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นหลักการทั่วไปอยู่แล้ว การตรวจสอบของ กกต.สามารถเรียกขอเอกสารได้อยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้เป็นการรับเงินบริจาค พรรคต้องส่งเอกสาร ข้อมูล และรายงานให้ กกต.รับทราบอยู่แล้ว ซึ่ง กกต. ได้วางหลักเกณฑ์การรับเงินบริจาคไว้อย่างเข้มงวดและเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อใดที่พรรคการเมืองได้รับบริจาคต้องรายงานให้ กกต.ทราบโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กกต.คงได้ตรวจสอบกระบวนการรับบริจาคเมื่อปี 2564 มาบ้างแล้ว ทุกฝ่ายดำเนินการกันไปฝ่ายตรวจสอบก็ตรวจสอบตามหน้าที่ไป พลังประชารัฐ มั่นใจอยู่แล้วว่าไม่มีปัญหาอะไร
{Fullwidth}