"นายกฯ เศรษฐา" เชิญ ผบช.ก. หารือก่อนบินญี่ปุ่น เผย มีหลายเรื่องที่ยังคั่งค้าง พร้อมฝากติดตามงานช่วงไปภารกิจต่างประเทศ ชี้ กรณีฝุ่น PM 2.5 ยังไม่ถึงขั้นต้องมีคำสั่ง Work From Home
วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงกรณีเชิญ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) มาพบ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินหรือไม่ ว่า ที่เรียนเชิญผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มาพบ เพราะมีเรื่องที่คุยค้างไว้หลายเรื่อง เรื่องของคดีต่างๆ ที่เรามอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปดูแล ซึ่งก็ต้องให้ทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจสอบหรือทำงานร่วมกันต่อไป ยังมีคดีที่ค้างอยู่เยอะ และมาครั้งนี้ก็เพื่อให้มารายงานความคืบหน้าด้วย หรือมีความหนักใจอะไรด้วยหรือเปล่า ก็อยากมาฟังข้อคิดเห็นจากท่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พล.ต.ท.จิรภพ ได้เดินทางมารอพบนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 08.10 น. โดยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่า มารอรายงานในหลายๆ เรื่อง ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมปฏิเสธที่จะตอบว่ามารายงานในเรื่องอะไรบ้าง
...
นายเศรษฐา เปิดเผยต่อไปว่า ช่วงที่นั่งรถมาก่อนเดินทางขึ้นเครื่อง ได้ส่งข้อมูล ฝากฝังและส่งข้อความถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานที่อยู่ที่นี่ทั้งหมด รวมถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝากการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ ส่วนเรื่องของค่าฝุ่น PM 2.5 ก็ได้ฝากดูถึงวิธีการ มาตรการในการวัด และตรวจเข้ม ในการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งก็ต้องเต็มที่
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอให้มีการ Work From Home ในพื้นที่ กทม. แต่ปัจจุบันปัญหาเริ่มลดน้อยลง แต่ไปหนักในพื้นที่ต่างจังหวัด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "เรื่องของฝุ่นมันก็ขึ้นๆ ลงๆ เรื่องการ Work From Home ผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้เสนอเป็นแนวทางหนึ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราก็เคยทำมาก่อน แต่ช่วงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันในการแก้ปัญหา" เมื่อถามย้ำว่ายังไม่ถึงขั้นจะต้องมีคำสั่งให้ Work From Home ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คงไม่มีคำสั่งออกไป ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือหน่วยงานนั้นๆ