การเลือกตั้งทั่วไปกำลังใกล้เข้ามา ทำให้หลายพรรคการเมืองเริ่มรณรงค์หาเสียงพร้อมเปิดนโยบายสำคัญ โดยหนึ่งในพรรคที่ต้องจับตาคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค และคาดว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค
โดยหนึ่งในนโยบายชุดแรกที่พรรครวมไทยสร้างชาติประกาศออกมาคือ ‘รื้อกฎหมายที่รังแกประชาชน และเป็นอุปสรรคการทำกิน’
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่า ทางพรรคได้ดำเนินการร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน หรือกฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ยังมีกฎหมายอีกอย่างน้อย 5 ฉบับที่เข้าข่ายเป็นกฎหมายรังแกประชาชน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อลงโทษกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาลหรือกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทว่า พรรครวมไทยสร้างชาติยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อกฎหมายเหล่านี้
infographic: สิริลักษณ์ ตะเภาหิรัญ
เปิด 5 กฎหมายยอดนิยมที่เข้าข่าย ‘รังแกประชาชน’ ในยุค พล.อ.ประยุทธ์
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,895 คน นับเป็นจำนวนคดีกว่า 1,180 คดี
หากนำจำนวนคดีมาจัดอันดับจะพบว่า 5 อันดับแรกของกฎหมายถูกนำมาใช้กับการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากที่สุด ประกอบไปด้วย
1. ข้อหา ‘ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ เช่น การรวมกลุ่มหรือชุมนุมทางการเมือง มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 1,467 คน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 663 คดี
นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยอ้างความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่าสองปี แต่ตลอด 2 ปีของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดูเหมือนภาครัฐจะนำมาใช้กับการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะการชุมนุม มากกว่าการควบคุมโรคระบาด
เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่รุนแรง ยกตัวอย่างเช่น การห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ยังออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุมอย่างน้อย 12 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีการสั่งห้ามชุมนุมแบบกว้างขวางอยู่อย่างน้อย 3 ฉบับ โดยกำหนดว่า
“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”
ปัญหาของการออกคำสั่งห้ามชุมนุมแบบกว้างขวางทำให้เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน เพราะในหลายกรณีเป็นการชุมนุมในที่เปิดโล่งไม่ใช่สถานที่แออัด และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็มีการตั้งข้อหาดำเนินคดี แม้ต่อมาศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ก็สร้างภาระให้กับประชาชนในการต่อสู้คดี
ยกตัวอย่างเช่น คดีชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือ ‘ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์’ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การชุมนุมเกิดในสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกิดเหตุในประเทศไทย และรัฐบาลมีการควบคุมอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว โดยภาพรวมแล้ว ถือว่าการชุมนุมยังไม่ก่อให้เกิดการระบาดของโรค
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้กับการชุมนุมที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมคาร์ม็อบ หรือการใช้รถยนต์ในการชุมนุมเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด แต่ก็ถูกดำเนินคดี ยกตัวอย่างเช่น คดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 แต่ต่อมาศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องอีกเช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมมิได้รวมตัวกันอยู่ในพื้นที่ปิด สภาพอากาศถ่ายเทสะดวก ยังไม่ถึงขนาดเป็นสถานที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
2. ข้อหา ‘หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์’ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 233 คน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 253 คดี
หลังการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ทำให้การชุมนุมเพิ่มมากขึ้น และเพดานของข้อเรียกร้องก็สูงขึ้น จากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้ ทาง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงออกประกาศแถลงว่า “รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่”
หลังการแถลงของนายกรัฐมนตรี มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย้อนหลังกับบรรดาแกนนำและผู้ชุมนุมหลายคดี และทำให้ยอดผู้ต้องหาในคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้งดเว้นการบังคับใช้มาตรา 112 มาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากการตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านกฎหมายดังกล่าว
สำหรับปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112 สามารถแบ่งออกเป็น 2 มิติ
มิติแรก คือปัญหาจากตัวบท เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ใครเป็นผู้ริเริ่มคดีก็ได้ จึงนำไปสู่การฟ้องกลั่นแกล้งกัน และกฎหมายยังมีอัตราโทษสูงเมื่อเปรียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาหรือความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในต่างประเทศ อีกทั้งกฎหมายยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน และไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามปกติในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกลายเป็นความผิด
ยกตัวอย่างเช่น คดีของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และพวก จากการทำโพลที่ห้างสยามพารากอน ที่ถามคำถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวเป็นการแสดงออกในเชิงตั้งคำถาม ไม่ได้มีลักษณะของการยืนยันข้อเท็จจริงอันจะเข้าองค์ประกอบการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำการแจ้งข้อหาดำเนินคดี โดยที่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ส่วนใดของกิจกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อหามาตรา 112
มิติที่สอง คือปัญหาการบังคับใช้ โดยพบว่า มีการนำกฎหมายนี้มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง แม้การกระทำดังกล่าวจะไม่เข้าข่ายตามองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยังกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ประกันตัวกับนักกิจกรรมทางการเมือง การวางเงื่อนไขในการประกันตัวไม่ให้ออกไปเคลื่อนไหวอีก เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น คดีของ มุก-พิมพ์สิริ ปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันฯ ในการทำรัฐประหาร พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112
3. ข้อหา ‘นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ’ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 161 คน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 182 คดี
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกนำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ และหลายกรณีถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ 116 ซึ่งมาตราสำคัญที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดี คือ มาตรา 14 (2) และ (3)
โดยกฎหมายระบุว่า การนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือ นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
จากบทบัญญัติในกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์หรือแชร์ ‘ข้อมูลอันเป็นเท็จ’ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในทางสาธารณะ เศรษฐกิจ หรือจะต้องก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่น โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือมาตรา 116 ก็จะถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย
ที่ผ่านมา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกนำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งที่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ยกตัวอย่างเช่น คดี 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการทำเพจวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีรัฐบาล
แต่ท้ายที่สุด ศาลมีคำสั่งยกฟ้องในคดีข้างต้น เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลย ทั้งจัดทำรูปภาพ เนื้อหามีถ้อยคำไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่เหตุที่จะยกขึ้นวินิจฉัยว่ามีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความเห็นของจำเลยมีความแตกต่างกับรัฐบาลไปบ้าง แต่เป็นธรรมดาตามวิถีปกครองระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ถูกนำมาใช้อย่างซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่น ทั้งนี้เนื่องมาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะเริ่มแรกเดิมที พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้กับความผิดในเชิงระบบ กล่าวคือ ‘ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ’ โดยแท้จริงแล้วหมายถึง ‘ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมา’ เช่นเดียวกับการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการปลอมแปลงเว็บไซต์เพื่อฉ้อโกง ไม่ใช่การนำมาใช้ควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์
4. ข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การจัดชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 132 คน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 77 คดี
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2557 ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาของกฎหมายจึงมีลักษณะของการจำกัดหรือควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมมากกว่าการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
เมื่อดูบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะพบว่า กฎหมายมีหลักเกณฑ์และข้อจำกัดที่เข้มงวดอันกระทบต่อสาระสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพ เช่น การกำหนดให้ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าแบบเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพื้นที่ห้ามชุมนุมที่ไม่ชัดเจนทำให้เสรีภาพในการชุมนุมในฐานะการมีส่วนร่วมทางการเมืองถูกลดทอนลง
โดยปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
หนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและการตีความ โดยจะเห็นได้ว่า กฎหมายทุกบังคับใช้อย่างกว้างขวางเกินความจำเป็น เช่น การรวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานราชการ หรือการเดินทางเข้าร่วมรับฟังการประชุมที่หน่วยงานรัฐจัดขึ้น ก็ถูกตีความว่าเป็นการชุมนุม แม้การรวมกลุ่มดังกล่าวจะมีขนาดเล็กและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่สาธารณะ และทำให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การชุมนุม เช่น ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
สอง ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยจะเห็นได้ว่า แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC’ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 บริเวณถนนดินสอ เป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมายที่ชัดเจน เนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ดังนั้น ตามขั้นตอนการจะสลายการชุมนุมจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลสั่งเลิกการชุมนุม และเมื่อศาลสั่งเลิกการชุมนุมก็ต้องแจ้งต่อผู้ชุมนุมให้ยุติการชุมนุมก่อน ถึงจะใช้กำลังในการสลายการชุมนุมได้
นอกจากนี้ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบ APEC เจ้าหน้าที่รัฐใช้กระสุนยางในระดับศีรษะและยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมทั่วไป โดยไม่ได้เลือกเป้าหมายเฉพาะที่ทำอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย และปืนยิงกระสุนยางถูกหยิบขึ้นมาใช้ทันที โดยอุปกรณ์ที่ความร้ายแรงน้อยกว่าอย่างการฉีดน้ำยังไม่ได้ถูกนำมาใช้จึงไม่ได้เป็นไปตามมาตรการการควบคุมการชุมนุมที่ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงไว้ก่อน
5. ข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 128 คน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 40 คดี
หลังการรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งใช้กับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะ รวมถึงใช้ควบคู่กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 กับผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์
หากพิจารณาจากตัวบทกฎหมายจะพบว่า มาตรา 116 ได้กำหนดความผิดไว้สำหรับการแสดงออกในเชิงยุยงปลุกปั่นให้เกิดการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล หรือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร กล่าวคือ มาตรา 116 เป็นกฎหมายที่มีไว้สำหรับการปลุกระดมให้คนไปก่อเหตุร้ายหรือใช้ความรุนแรง แต่ไม่ได้มีไว้สำหรับการป้องปรามการแสดงความคิดเห็นในเชิงติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด
แต่สาเหตุที่ทำให้มาตรา 116 กลายมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง คือ
หนึ่ง ปัญหาจากตัวบท ที่ขาดความชัดเจนแน่นอนต้องอาศัยการตีความ ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 116 (2) ที่กำหนดให้การกระทำในลักษณะที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ซึ่งคำว่า ‘ความปั่นป่วน’ ‘กระด้างกระเดื่อง’ หรือ ‘ก่อความไม่สงบ’ ล้วนเป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยที่เปิดช่องให้รัฐตีความและใช้ตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
สอง ปัญหาจากการบังคับใช้ โดยพบว่า มีการนำมาใช้จัดการกับกลุ่มที่แสดงออกในเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และการใช้ข้อหาหนักจึงเป็นการสร้างภาระให้กับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มีต้นทุนในการเคลื่อนไหวสูงขึ้น และเพิ่มภาระให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ตัวอย่างของคดีที่สะท้อนปัญหาการบังคับใช้มาตรา 116 ได้แก่ คดีแกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หรือ ‘คดี ARMY57’ ที่จัดการชุมนุมและปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากองบัญชาการทัพบก ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 โดยคดีนี้ อัยการสั่งฟ้องด้วยข้อหาตามมาตรา 116 แต่ต่อมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจาก เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่มีความรุนแรง หรือพฤติกรรมยุยงปลุกปั่น เป็นการกระทำซึ่งเป็นวิถีในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการชุมนุมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและสิทธิพลเมือง
{Fulllwidth}